การเงินส่วนบุคคล แบบง่ายๆ ทำยังไงดีหนอ

Categories: เรื่องทั่วไป

ช่วงนี้เศรษฐกิจไทยกำลังแย่ลงเรื่อยๆ ประกอบกับมีเรื่อง corona virus เข้ามาอีก บริษัทบางบริษัทกำลังปิดตัวลง วันนี้คุณมีแผนรับมือกับการเงินส่วนตัวหรือยังครับ วันนี้ผมมีหลักการบางอย่างมานำเสนอ ซึ่งแต่ละคนแต่ละสำนักอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกัน แต่ในที่นี้ขอเรียกว่า การเงิน 3 กระเป๋า
แล้วเจ้าการเงิน 3 กระเป๋านี่มันอะไรยังไงนะ เดี๋ยวผมจะขอเล่าให้ฟังนะครับ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจโดยภาพรวมก่อนว่าคนเรามีการใช้จ่ายในทุกๆวัน ถ้าในเวลานี้คุณทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็น งานประจำ ข้าราชการ งานฟรีแลนซ์ เจ้าของธุรกิจ ฯลฯ เงินของคุณจัดว่าเป็นแบบ active income ครับ ขอสมมติว่าวันนี้คุณตกงานกระทันหัน เดือนนี้คุณจะหาเงินจากไหนบ้าง ค่าใช้จ่ายของคุณล่ะทำอย่างไร หรือ สมมติวันนี้มีคนเสกให้คุณอายุ 60 ปีทันที ร่างกายคุณเริ่มทำงานไม่ไหว คุณมีเงินสำรองรับยามเกษียนแล้วหรือยัง นั่นจึงเป็นที่มาของกระเป๋า 3 กระเป๋า แบ่งเป็น
1.กระเป๋าฉุกเฉิน – ใช้ในยามเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น ตกงาน
2.กระเป๋าเกษียณรวย – เป็นเงินที่คุณจะใช้ในเวลาที่คุณเกษียณแล้ว ชนิดที่(อาจ)ไม่ต้องทำงานเพิ่มคุณก็พออยู่ได้
3.เกษียณเร็ว – เมื่อฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง หรือมีแผนรองรับหากคุณตกงานหรือพลาดแล้ว ก็สามารถลองนำเงินไปลงทุนต่อ
1.กระเป๋าฉุกเฉิน
– เป็นกระเป๋าที่เผื่อไว้ว่าวันนึงคุณเกิด “ตกงาน” ขึ้นมา เมื่อนั้นรายรับของคุณจะเท่ากับ 0 ทันที แต่รายจ่ายของคุณยังมีอยู่ ก็เราต้องกินต้องอยู่นี่นา
– ควรจะมีเท่าไร : คำตอบคือมีมากกว่าค่าใช้จ่าย 6-12 เท่า ครับ เช่น นาย A มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 15,000 บาท แปลว่าเขาควรจะมีเงินในกระเป๋านี้อย่างน้อยๆ 90,000 บาท
– เก็บไว้ในไหน : ควรเป็นที่ๆเก็บแล้ว “ความปลอดภัย” และ “สภาพคล่อง” สูง ครับ แนะนำว่าฝากธนาคารชนิดออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน
2.กระเป๋าเกษียณรวย
– แน่นอนว่าคนเราต้องแก่ตัวลงสักวัน และต้องมีสักวันที่เราทำงานแบบเดิมได้น้อยลง ไม่ไหว หรือมีคนที่เด็กกว่าเข้ามาแทนเราได้ ดังนั้นกระเป๋านี้ เป้าหมายคือให้คุณออมไปเรื่อยๆจนในวันที่คุณเกษียณจะได้อยู่อย่าง ไร้กังวล
– ควรจะมีเท่าไร : คำตอบนี้ไม่ตายตัวเลยครับ ขึ้นกับว่าคุณมีความ “ต้องการ” ใช้จ่ายในยามเกษียณเท่าไร พึงระลึกว่ายิ่งความต้องการสูงมากเรายิ่งต้องไปลงทุนอะไรที่เสี่ยงมากๆ ซึ่งผลก็คืออาจจะขาดทุนได้นะครับ ลองเขียนคร่าวๆดูว่าในยามเกษียณคุณจะทำอะไรบ้าง กินข้าวมื้อละเท่าไร ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าน้ำมัน ค่าของใช้ส่วนตัวเล็กน้อย คิดเป็นต่อเดือน คูณ 12 แล้วคูณจำนวนปีที่คุณคาดว่าจะมีชีวิต…. มาลองดูตัวอย่างกันนะครับ
– นายสมานปัจจุบันอายุ 30 ปี คิดว่าตอนเกษียณจะใช้เงินต่อเดือนประมาณ 35,000 บาท เขาคิดว่าเมื่อเขาอายุ 60 เขามีอายุยืนยาวจนถึงประมาณ 85 ปี เงินที่เขาควรจะมีคำนวณได้ว่า 35,000 บาท/เดือน x 12 เดือน x 25 ปี = 10,500,000 บาท
– วิธีนี้คิดคร่าวมากๆ ยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนะครับ แต่จะเห็นได้ว่าขนาดไม่คิดยังมากขนาดนี้เลย แล้วถ้าคิดจะเยอะกว่านี้ขนาดไหน
– บางคนอาจเถียงว่า ตอนเกษียณก็ยังทำงานได้ แค่นี้ก็มีเงินเข้ามาแล้ว… ได้ครับ ไม่ผิดเลยถ้าคุณคิดว่าตอนอายุ 60 ปี คุณยังอยากทำงานไปเรื่อยๆ แต่ถ้าคุณทำได้ มันก็ไม่เลวเลยใช่ไหมครับที่เรามีเงินใช้แบบไม่ต้องกังวลเรื่องการทำงาน
– เก็บในไหนดี : เงินส่วนนี้เป็นส่วนที่คุณต้องการใช้ในยามเกษียณแน่ๆ และจะเห็นได้ว่าปริมาณมันก็เยอะพอตัวเหมือนกัน ครั้นจะแค่ฝากธนาคารอย่างเดียวไม่พอแน่นอน ขอเสนอว่าลงทุนใน กองทุนรวมครับ อาจะเป็นกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมตราสารต่างๆก็ได้ เพราะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าธนาคาร แม้ความเสี่ยงจะมากกว่าแต่ไม่เท่าหุ้นครับ หรือคุณจะอาศัยประโยชน์จากกองทุนบำนาญ เบี้ยประกันก็ได้ ไม่ผิดครับ
– ขอเตือนก่อนว่าถ้าจะลงทุนอะไรควรศึกษาสิ่งนั้นให้ดีก่อน การที่อ่านบทความนี้แล้วกระโดดลงไปซื้อเลย คือความคิดที่ผิดมหันต์ ถ้าวันนี้คุณอยากจะคบกับใครสักคน เราก็น่าจะต้องเริ่มคุยกับเขาก่อนใช่ไหมครับ
3.กระเป๋าเกษียณรวย
– เมื่อคุณได้บริหารการเงินจนคิดว่าแข็งแกร่งพอแล้ว ก็มาที่กระเป๋าที่เชื่อว่าหลายๆคนไฝ่ฝันถึง นั่นคือ ความรวย ไม่ผิดนะครับที่เราอยากจะรวยแต่ที่ผมพูด 2 กระเป๋าแรกก่อนเพราะไม่อยากให้เอาเงิน “ทั้งหมด” ไปลงทุน แน่นอนถ้ามันสำเร็จก็ดีไป แต่ถ้าเจ๊งละ มันคือเงินคุณเลยนะครับ
– ในส่วนนี้ผมขอให้แนวทางว่า “เปิดอิสระภาพ” ทางความคิด ของเราก่อน ปัจจุบันมีช่องทางมากมายในการทำเงิน เช่น เขียนเพจ ขายของออนไลน์ อสังหาออนไลน์ เป็นติวเตอร์ หุ้น ฯลฯ
– และเหมือนเดิม ไม่ว่าคุณจะลงทุนหรือทำธุรกิจอะไร คุณควรจะศึกษาสิ่งนั้นให้ดีก่อน ถ้าวันนี้คุณจะซื้อหุ้น ลองซื้อหนังสือมาอ่านหน่อยไหม ถ้าจะเปิดร้านอาหาร ลองเข้าไปคุยกับคนที่เขาเปิดอยู่ดีไหมว่าเขาทำอย่างไร อย่าให้ความโลภหรืออารมณ์มาบดบังคุณไปนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นเจ๊งไปซะก่อน
โอ้โห อ่านมาขนาดนี้ กระเป๋าแต่ละใบก็ยากเหลือเกิน เงินก็เยอะอีกต่างหาก จะทำได้หรอ?… การเดินทางที่ยาวไกลต้องเริ่มจากก้าวแรกนะครับ ถ้าคุณไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย ลองเริ่มจากทำบันทึกรายรับรายจ่ายก่อน แล้วคุณจะเห็นว่าคุณเสียเงินไปกับอะไรบ้าง อันไหนลดได้ก็ลองลด อันไหนลดไม่ได้ก็ไม่ต้องลดครับ แล้วทางที่ดี “ออมก่อนใช้” เป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยเริ่มจาก 10% ของรายได้ เช่น นางอ้อยมีเงินเดือน 20,000 บาท/เดือน ดังนั้นในแต่ละเดือนนางอ้อยควรเก็บให้ได้อย่างน้อย 2,000 บาท ก่อน แล้วเอาเงิน 18,000 บาทไปใช้ต่อ
จำเป็นไหมว่าต้องเก็บเงินในกระเป๋าฉุกเฉินให้ครบก่อนแล้วค่อยไปเก็บเงินต่อในใบถัดไป… ไม่จำเป็นเลยครับ เราสามารถเติมไปพร้อมๆกันได้ เช่น นางอ้อยคนเดิม เก็บเงินได้ 2,000 บาทต่อเดือนแล้ว อาจใช้วิธีแบ่งเงิน 1,000 บาทเข้ากระเป๋าฉุกเฉิน อีก 500 บาทลงทุนในกองทุนรวม แล้วเหลือ 500 บาท เก็บไว้ลงทุนธุรกิจในอนาคต แบบนี้ก็ได้ครัย
เป็นยังไงกันบ้างครับ แนวคิดทั้งหมดนี้ยังมีรายละเอียดอีกเยอะมากๆ ที่ผมอยากจะแชร์ให้คุณฟังอีกเยอะ แต่ในเบื้องต้นวันนี้ถ้าคุณได้ข้อคิดดีๆก็ลองกลับไปตรวจสอบฐานะทางการเงินของคุณดูนะครับ แล้วขอให้ประสบความสำเร็จทางการเงินกันทุกคนนะครับ

»